ถอดเศรษฐศาสตร์ "ไอโฟน" อีกมุมที่ต้องมอง

ถอดเศรษฐศาสตร์ "ไอโฟน" อีกมุมที่ต้องมอง

 

 

 

 

       ไม่มีใครปฏิเสธว่า"แอปเปิล"เป็นยักษ์ไอทีผู้เปลี่ยนแปลงโลกไม่ใช่แค่ "ผลิตภัณฑ์" หากแต่รวมถึง   "ภูมิทัศน์ธุรกิจ" ที่ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป
     รายงานผลประกอบการไตรมาสล่าสุดของ "แอปเปิล" สร้างความประหลาดใจ ด้วยตัวเลขผลกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีรายได้ในไตรมาสแรกปี 2555 ซึ่งสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 อยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 118% จากช่วงเดียวกันของปี 2553 ตัวเลขดังกล่าว มาจากยอดขายไอโฟนที่ทำสถิติสูงสุด 37 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 128% จากปีก่อนหน้า ส่วนยอดขายไอแพด 15.4 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 111% ทว่าเบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวมีเรื่องราวที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภูมิทัศน์ทางธุรกิจในสหรัฐและเอเชียที่เปลี่ยนไปจากเดิม
 
     "นิวยอร์ก ไทม์" ถอดเศรษฐศาสตร์ไอโฟน เพื่ออธิบายว่า ทำไมแบรนด์อเมริกัน ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเช่นนี้ จึงไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการจ้างงานมหาศาล เหมือนที่บริษัทอเมริกันยักษ์ใหญ่อย่าง "เจนเนอรัล มอเตอร์ส" (จีเอ็ม) และ "เจนเนอรัล อิเล็กทริก" (จีอี) เคยช่วยประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐด้วยวิธีนี้มาแล้ว 

     ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เคยถามเรื่องนี้ต่อหน้า "สตีฟ จ็อบส์" ผู้บริหารคนเก่งของแอปเปิลที่ล่วงลับไปแล้วเมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีโอบามา ร่วมวงรับประทานมื้อค่ำ กับบรรดาผู้บริหารของซิลิคอน วัลเลย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีโอบามาอยากรู้ว่า ทำไมงานผลิตของแอปเปิลถึงไม่กลับมาจ้างชาวอเมริกัน ขณะที่จ็อบส์ตอบว่า งานเหล่านั้น  จะไม่กลับมาอีกแล้ว เหตุผลลึกๆ ที่จ็อบส์ไม่ได้พูดออกมา แต่นิวยอร์ก ไทม์ส วิเคราะห์จากข้อมูลต่างๆ จนพบว่า คำตอบของความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ค่าแรงราคาถูกที่แอปเปิลใช้บริการจากบริษัทจีนเท่านั้น แต่โรงงานนอกบ้านเหล่านี้  ยังมีความยืดหยุ่น แรงงานมีความขยันอดทน และมีทักษะด้านอุตสาหกรรมขั้นเทพ ในแบบที่บริษัทอเมริกัน "เมด อิน ยูเอสเอ" ไม่อาจเทียบได้

     ปัจจุบัน แอปเปิล จ้างงาน 43,000 ตำแหน่งในสหรัฐ และ 20,000 ตำแหน่งในต่างประเทศ ขณะที่ส่วนใหญ่ ใช้วิธีจ้างผ่านบริษัทผู้รับเหมา ทั้งในส่วนงานวิศวกร ฝ่ายผลิตและประกอบชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ รวมเป็นจำนวน 700,000 คน กระจายอยู่ในเอเชียและยุโรป อดีตผู้บริหารของแอปเปิลให้เหตุผลว่า การใช้บริการโรงงานผลิตของจีน เป็นเพราะตอบสนองสิ่งที่บริษัทต้องการได้รวดเร็ว อย่างกรณีที่แอปเปิลปรับดีไซน์หน้าจอไอโฟนรุ่นใหม่ก่อนกำหนดวางขายไม่นาน จึงจำเป็นต้องยกเครื่องไลน์ประกอบชิ้นส่วนใหม่ และหน้าจอต้องพร้อมเสิร์ฟให้โรงงานภายในชั่วข้ามคืน คนคุมงานต้องปลุกพนักงาน 8,000 คน     ที่อยู่ในหอพักให้ลุกขึ้นมาทำงานแข่งกับเวลา หลังจากแจกอาหารรองท้อง และแนะนำการทำงานตามดีไซน์ใหม่ ที่ใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง แรงงานเหล่านี้จะเร่งทำงานตลอดกะ 12 ชั่วโมง เพื่อทำให้หน้าจอ มีเหลี่ยมมุมตามต้องการ และภายใน 96 ชั่วโมง โรงงานสามารถผลิตไอโฟนรุ่นใหม่ได้กว่า 10,000 เครื่องต่อวัน ซึ่งความรวดเร็วและยืดหยุ่นของแรงงาน เป็นเรื่องน่าทึ่ง  ไม่มีโรงงานอเมริกันทำได้ตามความต้องการของแอปเปิล
 
     อีกกรณี ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงข้างต้น คือ ช่วงก่อนที่จะคลอดไอโฟน แอปเปิล ต้องหาบทสรุปของมือถือแบบใหม่ที่ปรับโฉมไปจากเดิม ดีไซน์ที่มาพร้อมคุณภาพ รวมถึงรับประกันว่าจะผลิตสินค้าใหม่จำนวนหลายล้านเครื่องได้อย่างรวดเร็วและไม่แพงเกินที่จะสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำให้บริษัท น่าสนใจว่า คำตอบของเรื่องเหล่านี้ กลับอยู่นอกสหรัฐ เพราะชิ้นส่วน 90% ที่ประกอบเป็นไอโฟน  มาจากหลากหลายแหล่งทั่วโลก ทั้งเซมิคอนดักเตอร์จากเยอรมนีและไต้หวัน หน่วยความจำจากเกาหลีและญี่ปุ่น หน้าจอและแผงไฟฟ้า จากเกาหลีและไต้หวัน ชิปจากยุโรป แร่หายากจากแอฟริกาและเอเชีย แต่ทั้งหมดนี้ มารวมอยู่ที่เดียว คือ "จีน" สิ่งที่ทำให้จีน รวมถึงเอเชีย มีความน่าสนใจ เนื่องจากแรงงานกึ่งมีทักษะเหล่านี้มีราคาถูก แต่นั่นไม่ใช่เสน่ห์อย่างเดียวที่ดึงดูดแอปเปิลและบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ เพราะต้นทุนแรงงานมีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับรายจ่ายในการซื้อชิ้นส่วนและบริหารห่วงโซ่อุปทานที่มาจากบริษัทนับร้อยแห่ง

 

     ปัจจัยที่ทำให้ใครๆ พุ่งความสนใจมาที่เอเชีย มาจาก 2 เหตุผลหลัก นั่นคือ โรงงานในเอเชีย มีความยืดหยุ่นในการผลิตมากกว่า และเอเชียยังมีห่วงโซ่อุปทานหลากหลายกว่าในสหรัฐ ซึ่งทำให้ใครๆแข่งขันได้ยาก ยกตัวอย่าง การใช้หน้าจอทัชสกรีนแบบกระจก ซึ่งแบรนด์มือถือเดิมๆ หลีกเลี่ยงมาตลอด เพราะต้องใช้ทักษะในการตัดและเจียระไนเหลี่ยมมุมที่ค่อนข้างยาก แม้แต่บริษัทอเมริกันเก่าแก่ที่มากประสบการณ์  ก็ยังไม่อาจรับมือกับปริมาณการผลิตมหาศาล ทว่าโรงงานในจีนเอาอยู่ เพราะใช้วิธีสร้างหอพักในเขตโรงงาน ทำให้พนักงานพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง ยังไม่นับรวมแรงหนุนจากทางการปักกิ่ง
 
     ขณะที่ ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดอยู่ในจีน เพราะชิ้นส่วนทุกอย่างผลิตอยู่ในโรงงานที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกันหมด โดยขนส่งชิ้นส่วนไปประกอบที่ "ฟ็อกซ์คอนน์ ซิตี้" ซึ่งมีความพร้อมในการผลิต ทั้งพนักงาน 230,000 คน ที่ทำงาน 12 ชั่วโมง เป็นเวลา    6 วันต่อสัปดาห์ และพนักงานจำนวนมากได้ค่าแรงไม่ถึง 17 ดอลลาร์ต่อวัน พนักงานมากกว่า 1 ใน 4 ของทั้งหมดพักในบริษัท โดยครัวกลางจัดเตรียมอาหารในแต่ละวันที่ใช้ปริมาณเนื้อหมูมากถึง 3 ตัน และข้าว 13 ตัน แต่พื้นที่ในโรงงานยังอับและเต็มไปด้วยควันบุหรี่
 
     บริษัทฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี มีโรงงานผลิตในเอเชีย ยุโรปตะวันออก เม็กซิโก และบราซิล ว่ากันว่า การประกอบชิ้นส่วนของบริษัทแห่งนี้  มีสัดส่วน 40% ของจำนวนสินค้าคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ซึ่งลูกค้ารายใหญ่ๆ ได้แก่ อะเมซอน เดลล์ ฮิวเลตต์-แพคการ์ด โมโตโรลา นินเทนโด โนเกีย ซัมซุง และโซนี่
 
     "เจนนิเฟอร์ ริโกนี" ที่เคยทำงานให้แอปเปิล กล่าวว่า บริษัทจีน สามารถจ้างพนักงาน 3,000 คน ได้ภายในชั่วข้ามคืน ขณะที่มีคำถามว่า โรงงานอเมริกันสามารถหาคนงานจำนวนเท่านี้ได้ภายในข้ามคืน และสร้างความเชื่อมั่นให้คนเหล่านี้ยอมอยู่ในหอพักที่จัดไว้ให้ได้หรือไม่
 
     อีกเรื่องหนึ่ง ที่จีนได้เปรียบสหรัฐ คือ จีนสามารถจัดสรรวิศวกรจำนวนมาก ในขณะที่สหรัฐ ไม่อาจทำได้ ยกตัวอย่างวิศวกรภาคอุตสาหกรรมที่ทำงานให้แอปเปิล 8,700 คน เพื่อตรวจสอบและแนะนำพนักงานประกอบชิ้นส่วนไอโฟน ที่มีจำนวน 200,000 คน หากเป็นการผลิตในสหรัฐ อาจต้องใช้เวลาจัดหาบุคลากรนานถึง 9 เดือน แต่ในจีนใช้เวลาเพียง 15 วัน นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆด้วย และการจ้างผลิตในต่างประเทศ หรือเอาต์ซอร์ซ ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดาในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งบริการด้านบัญชี กฎหมาย ธนาคาร ภาคการผลิตรถยนต์ และอุตสาหกรรมยา
 
     มีคำถามตามมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับแรงงานอเมริกัน ซึ่งมีระดับการศึกษาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ แต่กลับมีจุดอ่อนอยู่ที่การพัฒนากลุ่มแรงงานทักษะระดับกลางให้สอดคล้องกับความต้องการของโรงงาน ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องย้าย   การผลิตไปในพื้นที่อื่นที่สร้างผลกำไรได้มากพอสำหรับนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้น ไม่อย่างนั้นบริษัทอาจเพลี่ยงพล้ำต่อคู่แข่ง   รายใหม่ๆ
 
     "มาร์ติน ชมิดท์" อาจารย์จากเอ็มไอที มองว่า บริษัทอย่างแอปเปิล สะท้อนถึงความท้าทายที่มีต่อโรงงานสหรัฐในการจัดหาแรงงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องจบมหาวิทยาลัย แต่สหรัฐก็ไม่มีบุคลากรมากพอ ยังไม่นับรวมต้นทุน หากผลิตไอโฟนในสหรัฐ ซึ่งนักวิเคราะห์หลายรายประเมินว่า ค่าแรงคนงานอเมริกันจะเพิ่มต้นทุนให้ไอโฟนอีก 65 ดอลลาร์ต่อเครื่อง นั่นหมายถึง ผลกำไรที่ย่อมลดลง แต่นี่ไม่สำคัญเท่ากับทักษะของแรงงานสหรัฐที่ยังไม่รวดเร็วและยืดหยุ่นมากพอ
ประกอบกับระบบเศรษฐกิจสหรัฐที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้แรงงานระดับกลางหายไป โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่มีดีกรีระดับวิทยาลัย ซึ่งทำให้ชนชั้นกลางมีโอกาสเข้าถึงงานได้น้อยลง  



  

บทความโดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 1725
ผู้เข้าชม

myAccount Cloud Accounting โปรแกรมบัญชีออนไลน์สำหรับ SMEs โปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่ทำให้การทำบัญชีของคุณ เป็นไปอย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว

ข่าวสารล่าสุด

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2557 เวลา 13.30-16.00 น. อาจารย์นิลาวรรณ วงศ์ศิลปมรกต อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ พร้อมคณะอาจารย์ และ ...
1922 ผู้เข้าชม
หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ พร้อมคณะอาจารย์ และ นักศึกษาระดับชั้น ปวช.ปีที่ 1 รวมทั้งสิ้น 73 คน ได้เข้าเยี่ยมชม บริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด
2525 ผู้เข้าชม
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 เวลา 14.00 น. Mr. Marc Miller Vice Consul ได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด
2031 ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์