​9 วิธีคิดแบบ UNIQLO สู่ความสำเร็จแบรนด์แฟชั่นระดับโลก

​9 วิธีคิดแบบ UNIQLO สู่ความสำเร็จแบรนด์แฟชั่นระดับโลก





หลังเรียนจบปริญญาตรีและเข้าทำงานที่อิออน ห้างค้าปลีกใหญ่สุดของญี่ปุ่น กระทั่งต้นทศวรรษ 1970 ทาดาชิ ยานาอิ ซึ่งอยู่ในวัย 20 กว่าปีก็ตัดสินใจลาออกเพื่อกลับไปสานต่อธุรกิจร้านตัดเสื้อผ้าของครอบครัวซึ่งตั้งอยู่ในเมืองอูเบะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮิโรชิม่า ผลของการบริหารกิจการครอบครัวโดยยานาอิ ทำให้พนักงาน 6 คนจากทั้งหมด 7 คนลาออก นาทีนั้น ยานาอิเริ่มคิดว่าการบริหารธุรกิจไม่ใช่งานที่เขาถนัด


40 ปีต่อมา ยานาอิเข้าสู่วัย 68 ปี นั่งแท่นประธานบริษัทฟาสต์ รีเทลลิ่ง บริษัทแม่ของยูนิโคล่ อาณาจักรแฟชั่นระดับโลก บทเรียนจากการบริหารธุรกิจครอบครัว และความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับการเป็นผู้นำที่ดีกลายเป็นเคล็ดลับสู่ความสำเร็จ ยานาอิเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว เขาเป็นหนอนหนังสือที่ชอบอ่านชีวประวัติบุคคล โดยเฉพาะนักธุรกิจที่เป็นตำนาน เช่น โคโนสุเกะ มัตสุชิตะ ผู้ก่อตั้งพานาโซนิก และโซอิจิโร ฮอนดะ ผู้ก่อตั้งฮอนด้า มอร์เตอร์ หนังสือประเภทนี้เปรียบเหมือนกรณีศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ และทำให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์คนอื่น


นอกเหนือจากการอ่าน ภูมิปัญญาที่เรียนรู้ยังมาจากการเดินทาง ยานาอิชมชอบวัฒนธรรมคนหนุ่มสาว เขาจึงเดินทางไปอเมริกา อังกฤษ และยุโรปบ่อยๆ เพื่อสำรวจว่าคนในอุตสาหกรรมเสื้อผ้ากำลังทำอะไรอยู่ นักธุรกิจที่เขาชื่นชอบมากที่สุดคือเลสลี่ เว็กซ์เนอร์ที่เข้ามาบริหารแบรนด์ชุดชั้นใน Victoria’s Secret จนสามารถทำรายได้ถึง 1 ล้านล้านเยนในเวลาอันสั้น เขายังศึกษากลยุทธ์ของแบรนด์ Next ในอังกฤษที่ทำยอดขายต่อปีจาก 2,000 ล้านเยนพุ่งไปที่ 200,000 ล้านเยนในเวลาเพียง 8 ปี


การเดินทางไปเปิดหูเปิดตาทำให้ยานาอิฝันอยากสร้างธุรกิจให้เติบโตทัดเทียมแบรนด์ตะวันตกเหล่านี้บ้าง แต่ตอนนั้น ธุรกิจครอบครัวที่เขาดูแลเป็นเพียงร้านเสื้อผ้าผู้ชายในจังหวัดที่ที่มีประชากรเพียง 1.7 แสนคน เขาจึงตั้งเป้าว่าหากขยายร้านได้ 30 สาขาและทำรายได้สัก 30,000 ล้านเยนก็ดีถมแล้ว การณ์กลับกลายเป็นว่า ยานาอิมาไกลมาก ปัจจุบัน บริษัทฟาสต์ รีเทลลิ่งของเขามีพนักงาน 110,000 คน ร้านยูนิโคล่มีจำนวน 1,920 สาขาทั่วโลก เกินกว่า 1,000 แห่งเป็นสาขานอกญี่ปุ่น โดยตลาดหลักอยู่ที่จีน ฮ่องกง และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรายได้ 47% มาจากธุรกิจในต่างประเทศ


ทั้งนี้ หากถอดรหัสความสำเร็จจากหลักและวิธีคิดในการบริหารกิจการของยานาอิ จะประกอบด้วย

1. อย่ากลัวความล้มเหลว เพราะถ้าไม่ลองก็ไม่เกิดการเรียนรู้ แล้วความสำเร็จจะมาได้อย่างไร ยูนิโคล่เองก็เคยขาดทุนย่อยยับในตลาดจีน สหรัฐฯ และยุโรป แต่ยานาอิมองว่านั่นคือความท้าทาย ต้องคิดหาวิธีในการฟื้นสถานการณ์

2. รู้จักคู่แข่ง ยานาอิศึกษากลยุทธ์การแข่งขันโดยซุ่มศึกษาแบรนด์ระดับโลกอย่าง H&M, Mark & Spencer และ Gap ดูว่าแบรนด์เหล่านั้นบริหารดีหรือพลาดอย่างไร แล้วเรียนรู้จากตรงนั้น

3. เข้มงวดกวดขัน การเป็นคนง่าย ๆ สบายๆ ไม่ว่ากับตัวเองหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอาจไม่เป็นผลดีนัก บางครั้งก็จำเป็นต้องใช้ไม้แข็งและกดดันเพื่อให้การทำงานมีการพัฒนาและเติบโตขึ้น

4. ต้องปรับตัวหากไม่อยากเป็นจุดอ่อนที่ถูกกำจัด นี่คือคัมภีร์ที่พนักงานยูนิโคล่ทุกคนยึดถือ การเปลี่ยนแปลงนั้นสำสำคัญและเลี่ยงไม่ได้ หากไม่ปรับตัวก็ไม่อาจอยู่รอด ลงเอยด้วยการถูกขจัดออก

5. ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แถมยังอาจเป็นโอกาสอันดีก็ได้ เหมือนตอนที่จดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้า ยานาอิตั้งใจใช้ชื่อ Uniclo (ย่อจาก Unique Clothing) แต่เจ้าหน้าที่เขียนผิดเป็น Uniqlo ซึ่งยานาอิไม่ได้มองเป็นปัญหาใหญ่ สุดท้ายก็กลายเป็นแบรนด์ที่แจ้งเกิดในวงการแฟชั่น

6. ไม่สายที่จะเริ่มต้นใหม่ อย่ายึดติดรูปแบบเดิมหากมันไม่เวิร์ก ตอนเริ่มธุรกิจแรก ๆ สินค้าของยานาอิคุณภาพต่ำ ทำกำไรน้อย เขาตัดสินใจทำแบรนด์เสื้อผ้าเอง โดยควบคุมคุณภาพและขั้นตอยการผลิต ถือเป็นการวางคอนเซปต์ใหม่หมดจนนำไปสู่ความสำเร็จในปัจจุบัน

7. เติบโตช้าแต่มันคง อย่าพยายามขยายธุรกิจเร็วเกินไปโดยไม่ดูสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริง ตอนที่ยูนิโคล่รุกตลาดอังกฤษ ตั้งเป้าขยาย 50 สาขา แต่กลับลงเอยด้วยการทะยอยปิด 16 สาขาเพราะขาดทุนจนต้องยอมถอยมาตั้งหลัก ปัจจุบัน ร้านยูนิโคล่ในอังกฤษแม้จะมีเพียง 10 แห่งแต่ก็ทำกำไรทุกสาขา

8. ลงไปคลุกวงในบ้าง ในการทำงาน เป็นเรื่องที่ดีที่มีคนคอยช่วย แต่การจ่ายงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำโดยไม่เหลียวแลนั้นเป็นเรื่องไม่ควรทำ อย่างน้อยผู้บริหารควรใส่ใจรายละเอียดต่าง ๆ เพราะรายละเอียดคือหัวใจของทุกสิ่ง และทุกสิ่งอย่างจะปรากฏให้เห็นในรายละเอียด

9. ชีวิตแสนสั้น เดินหน้าทำตามความฝัน เราไม่รู้หรอกว่าวันไหนจะเป็นวันสุดท้ายที่ได้ใช้ชีวิต ดังนั้น หากมีเป้าหมาย จงพยายามทำมันให้เป็นจริง ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี หากทำไม่สำเร็จ อย่างมากก็แค่เสียใจ แต่อย่างน้อยก็ยังได้ลงมือทำ




Credit : smethailandclub.com

 13176
ผู้เข้าชม

myAccount Cloud Accounting โปรแกรมบัญชีออนไลน์สำหรับ SMEs โปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่ทำให้การทำบัญชีของคุณ เป็นไปอย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว

บทความล่าสุด

รู้หรือไม่ว่า ในช่วงแรกเริ่มของ Alibaba แจ๊ค หม่า ไม่จ้างคนเก่งมาร่วมทีม แต่กลับเลือกคนที่อยู่ลำดับรองมาร่วมงานด้วย
17304 ผู้เข้าชม
หลังเรียนจบปริญญาตรีและเข้าทำงานที่อิออน ห้างค้าปลีกใหญ่สุดของญี่ปุ่น กระทั่งต้นทศวรรษ 1970 ทาดาชิ ยานาอิ ซึ่งอยู่ในวัย 20 กว่าปีก็ตัดสินใจลาออกเพื่อกลับไปสานต่อธุรกิจ...
13176 ผู้เข้าชม
ผมมักจะเขียนถึงเรื่องการขายที่เชื่อมโยงกับกีฬาฟุตบอลอยู่เสมอ นั่นเป็นเพราะกีฬาชนิดนี้ มีความคล้ายคลึงกับระบบการทำงานในองค์กรอย่างน่าประหลาด
7706 ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์