Chiang Mai Creative City

Chiang Mai Creative City

 

Creative City: การสร้างดุลของมหาอำนาจเศรษฐกิจในพื้นที่เชียงใหม่ 

       หากไม่ลำเอียง เราจะเห็นปรากฎการณ์การใช้พื้นที่เชียงใหม่เป็นดุลคานอำนาจทางเศรษฐกิจของมหาอำนาจผ่าน Project Idea และการ Promotion อย่างชัดเจน ญี่ปุ่นหนุนเรื่องการเป็นเมืองพำนักพักพิงของผู้เกษียณอายุในเชียงใหม่ อันเป็นผลสืบเนื่องของ Long Stay และ Little Japan Town ในย่านถนนช้างคลาน หรือถนนสุเทพ และอาจจะกินแถวนิมมานเหมินท์ฯลฯ
       ส่วนจีนก็โหมมาเป็นพายุบุแคมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งโครงการขนาดใหญ่ที่ Sale Idea ทั้งการสร้างเส้นทางและอุโมงค์ลัดเชียงใหม่ไปแม่ฮ่องสอน และเนปิดอว์ของพม่า  ซึ่งต้องยอมรับว่าจีนมีอิทธิพลค่อนข้างสูงในเชียงใหม่ ทั้งในรากฐานตระกูล ที่กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ  ซึ่งการประกาศใช้โมเดล “อี้อู” ในเชียงใหม่ของพื้นที่ของ “วัชระ ตันตรานนท์”  มูลค่าการลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท ก็ถือว่าเป็นการสร้างดุลอำนาจทางเศรษฐกิจในเชียงใหม่อีกโสตหนึ่ง
       หากถามถึงอินเดีย แน่นอนทุนสัญชาติอินเดียเพาะบ่มมาถึงที่และกำลังสำแดง Power ทางเศรษฐกิจออกมาทางด้านการกุมที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในเชียงใหม่และกำลังเร่งพัฒนาในช่วงนี้ไม่รวมถึง การเดินทางของห้างสรรพสินค้าชื่อดัง The Bombay Store มีสาขากระจายอยู่ในเมืองสำคัญๆ ของอินเดียรวม 87 สาขา มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองมุมไบ เข้ามาสั่งซื้อสินค้าที่เชียงใหม่
       กลับมาสู่สหรัฐอเมริกาการโหมเรื่องโลจิสติกส์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างจะแผ่วเบา เพราะอย่างไรก็ตามก็ต้องยอมจำนนต่อการรุกก้าวของจีนอย่างหนักหน่วงไม่ไหว เพราะมาแรงทั้งเส้นทาง R3A รวมถึงรถไฟความเร็วสูง

 

 

 

 

 

 

       ล่าสุดการขับเคลื่อนของสหรัฐฯ มีความชัดเจนและมีอิทธิพลสูงต่อในพื้นที่เชียงใหม่คือ การผลักดันให้เชียงใหม่เป็น “Creative City” อันเป็นโครงการที่สร้างสรรค์และมีนัยยะต่อเศรษฐกิจของเชียงใหม่ในอนาคตได้อย่างดี โดยเป้าคือให้เชียงใหม่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภายในปี 2554-2556 อันหมายถึงการเร่งสร้างกระบวนการ

       (1.) ขับเคลื่อนโดยทุกภาคส่วนของจังหวัดเชียงใหม่เอง (ไม่ใช่ส่วนกลาง)

       (2.) ส่งเสริม อุตสาหกรรม งานวิจัย การเรียนรู้ นวัตกรรม และ การพัฒนาอย่างยั่งยืน

       (3.) ประชาชนมีทัศนคติ ที่เปิดกว้าง ยอมรับสิ่งใหม่ๆ

       (4.) มีความพร้อมด้าน แรงงาน และบุคคลากร สาหรับงานเชิงความรู้

       (5.) มีพื้นที่ และ รูปแบบเมือง ที่สามารถใช้งานได้หลายวัตถุประสงค์

       (6.) การประชาสัมพันธ์ ชูจุดเด่นของเมือง

       (7.) มีความร่วมมือที่ดี ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หน่วยราชการ ธุรกิจ มหาวิทยาลัย ประชาชน

      และทั้งนี้โครงการได้ออก Road Map ซึ่งได้ออกล่วงหน้ามาแล้วลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 

      ภาพชัดเจนที่สหรัฐฯ ได้สนับสนุนกิจกรรมใหญ่ ๆ ในการให้เชียงใหม่เป็นเมืองสร้างสรรค์มาแล้วในปี 2553-2554 หลายกิจกรรมด้วยกันได้แก่

      1.)  การจัดประชุมนานาชาติ “Northern Thailand’s Creative Economy Conference: Opportunities and Challenges in IT Sector” (เศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาคเหนือประเทศไทย: โอกาสและความท้าทายในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553

      2.) การเชิญนายเบ็น รามิเรซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจจากเมืองออสติน เท็กซัส สหรัฐอเมริกา มาเยือนเชียงใหม่เพื่อเสนอประเด็นเส้นทางสานสัมพันธ์เศรษฐกิจ “Creative Corridors” โดยโครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในความพยายามของสหรัฐฯในการช่วยกระตุ้นการสร้างงานและการเติบโตของเศรษฐกิจภูมิภาคในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือของไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 

 

 

 

 

 

 

       เมืองออสตินเป็น case study ที่ดีคือเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 15 ของสหรัฐอเมริกา  การมุ่งเน้นเรื่องนวัตกรรมทำให้เมืองออสตินกลายเป็นเมืองที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ และยังเป็นทาเลอันดับต้นของประเทศที่ดึงดูดกลุ่มนักสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีการศึกษาดี จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นเมืองสาหรับ “ชนชั้นนักสร้างสรรค์” อุตสาหกรรมชั้นนาของออสติน ได้แก่ พลังงานสะอาด เทคโนโลยีคอนเวอร์เจนซ์ สื่อสร้างสรรค์และสื่อดิจิตอล และวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิต บริษัทที่มีการจ้างงานมากที่สุดของออสติน ได้แก่ AMD, Apple, Dell, Hoover, IBM และ Freescale เป็นต้น ผลิตภัณฑ์มวลรวมของออสติน (GMP) ติดอันดับที่ 23 ในจานวนภูมิภาคส่งออกทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา
       3.) การประชุมขยายผล “เชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์” (Chiang Mai Creative City Conference) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน  2553 การประชุมดังกล่าวเน้นนาเสนอโมเดล “สภาฟลอริดา ไฮเทค คอร์ริดอร์” (Florida High Tech Corridor Council) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โปรแกรมพัฒนาเศรษฐกิจที่ล้าหน้าที่สุดในอเมริกาเหนือ เพื่อเป็นแม่แบบในการพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาคจากทุกองค์กรภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชนและภาควิชาการ ในการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันทางด้านไอทีของภาคเหนือ เพื่อที่จะก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางไอทีระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป
       โครงการล่าสุดที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554     คณะกรรมการพัฒนาเชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์  (Chiang Mai Creative City) จะได้ให้การต้อนรับ ยูเนสโก (UNESCO) เพื่อหารือเรื่องเข้าเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ระดับโลก ของ ยูเนสโก (UNESCO Creative City Network) โดยมี Mr. Timothy Curtis, Head of Cultural Section, UNESCO Thailand ที่จะมาให้ข้อมูลกระบวนการ Criteria การคัดเลือกเมืองให้เป็น Creative City  และระดมสมองกัน ฯลฯ

 

 

 

 

 

 

       สำหรับ “Creative Cities Network” แห่งองค์การ UNESCO เป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ด้านการศึกษา สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม  
       UNESCO ได้ให้คำจำกัดความ Creative City ว่าคือการร่วมมือระหว่าง ชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐ ในการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการนำ สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่นมาผสมผสานกับ เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองที่มี บรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ (Creative Industry) ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 19 เมืองจาก 6 ทวีป แบ่งเป็น 7 กลุ่มได้แก่

          (1) เมืองแห่งงานออกแบบ

          (2) เมืองแห่งอาหารการกิน

          (3) เมืองแห่งภาพยนตร์

          (4) เมืองแห่งดนตรี

          (5) เมืองแห่งสื่อศิลปะ

          (6) เมืองแห่งวรรณกรรม

          (7) เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน

       ในความคิดผมก็เชื่อมั่นว่าเชียงใหม่เข้าเกณฑ์ทั้ง  7 อย่างไม่มีข้อกังขาครับ ยังไม่พอครับ การเป็นเมือง Creative City นั้นจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ครับ

     (1.) การสร้างสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์งาน นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดเตรียมปัจจัยพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจสร้างสรรค์

      (2.) นำความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Culture Diversity) มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงาน การพัฒนาเมืองให้เป็น Creative City จะก่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และเป็นการสร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Cultural Diversity) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่เหมาะสมกับการสร้างสรรค์

       ดังนั้นกระบวนการในการสร้างเมืองสร้างสรรค์แน่นอนไม่ง่ายครับ จะต้องมีกระบวนการปรับปรุงองค์ประกอบของเมือง ได้แก่

      (1.) การสร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมให้แก่เมือง (Cultural Identity) การสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมให้มีความเปิดกว้าง (Diversity & Open Society) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่

      (2.) การรวบรวมนักคิดและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ (Talent/Creative Entrepreneur) เพื่อรวบรวมผู้มีความคิดสร้างสรรค์ในการผสมผสานวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับเทคโนโลยี วัฒนธรรม และการจัดการด้านธุรกิจ ที่ก่อให้เกิดการจ้างงานและกำลังซื้อสินค้าหมุนเวียนเป็นกลไกให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

      (3.) การสร้างพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวก (Space & Facility) โดยจะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอและมีคุณภาพช่วยก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการผลิตนักคิด และธุรกิจสร้างสรรค์

      (4.) การบริหารจัดการเมือง (Management) องค์กรของภาครัฐและเอกชนจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองโดยเป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น และทำงานประสานกันเพื่อนำไปสู่เป้าหมายได้อย่างสร้างสรรค์ โดยมีแนวทางในการปรับปรุงเมืองเพื่อให้เป็น Creative City โดยการผสมผสานประวัติศาสตร์ และความคิดสร้างสรรค์ ให้เมืองมีความผสมผสานกัน

       ดังที่เมือง Popayan ซึ่งเป็นเมืองแห่งอาหารการกิน (City of Gastronomy) มีลักษณะของเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากประเทศสเปน เมืองดังกล่าวมีการวางโครงสร้างหลักในการเป็นเมืองแห่งอาหารการกินโดยมีห้องสมุด และศูนย์วิจัยเกี่ยวกับอาหาร มีองค์กร Gastronomy Corporation of Popayan ซึ่งรับผิดชอบการจัดประชุมเกี่ยวกับอาหารในระดับประเทศ (National Gastronomy Congress) นอกจากนี้องค์กรดังกล่าวยังร่วมมือกับ Universidad del Cauca ในการศึกษาวิจัยด้านวัฒนธรรมและมรดกทางวัฒนธรรมของเมือง

 

 

 

 

 

 

       เมือง Kobe ซึ่งเป็นเมือง City of Design ภายใต้ UNESCO Creative Cities Network สภาพแวดล้อมทั่วไปของเมืองเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจเนื่องจากเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทข้ามชาติมากมาย ในด้านการสร้างสภาพแวดล้อมของเมืองให้เอื้อต่อการเป็น City of Design Kobe ได้จัดกิจกรรมและนิทรรศการเกี่ยวกับศิลปะและการออกแบบอย่างต่อเนื่องเช่น Kobe Biennale The Conference on Art and Art Project (C.A.P) 

 

 

 

 

 

 

       แน่นอนการเป็น Creative City มีผลข้างเคียงต่อเชียงใหม่ในอนาคตแน่นอนคือการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของเชียงใหม่ไม่มากก็น้อยจะเดิมที่มีสัดส่วน GPP หลักอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งหากมีการ switch สู่ภาคเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะต้องกระชากโครงสร้างใหญ่พอสมควรทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมของเมือง ฯลฯ 

 

 

 

 

 

 

       และภาพทุนที่เกี่ยวข้องกับ Creative Economy อันเป็น Power ของโลกในปัจจุบันและอนาคตและมีมูลค่าสูงมหาศาล ย่อมมาจับจองพื้นที่เชียงใหม่ไว้แล้วเช่นกัน โดยเฉพาะบริษัทไอทีอเมริกันและบริษัทไอทีนานาชาติ ทั้งจากกรุงเทพฯและส่วนภูมิภาคคือ Microsoft, IBM, Cisco, Creative Kingdom Animation, หรือ Software House ดัง ๆ  ก็ได้มาปักหลักปักฐานแล้ว
       ผมเพียงแต่สะท้อนแง่มุมหนึ่งเท่านั้นในทางดุลอำนาจทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือและที่เชียงใหม่เพื่อให้เห็นภาพอีกมิติหนึ่ง มิใช่เพียงการมองผ่านเพียงแค่เชียงใหม่เมืองแห่งอภิมหาโครงการ หรือการมีโครงการเศรษฐกิจที่มะรุมมะตุ้มลงมา แต่ไม่ได้มีการจัดวางในเชิงการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน หรือเป็นเพียง propaganda มิเช่นนั้นเชียงใหม่จะกลายเป็นพื้นที่ประกวดประขันและถ่วงดุลของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจไปในอนาคต แล้วภาพความเป็นท้องถิ่นจะเป็นอย่างไรเป็นเอกภาพหรือไม่ หรือจะเป็นเวทีการประลองทางเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจกัน เป็นโจทย์หนึ่งที่น่าคิดครับ!

  
Links และอ้างอิง

 http://chiangmai.usconsulate.gov/

http://www.creativechiangmai.com/

http://www.buyusa.gov/thailand/en/ceconf.html

Facebook เชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์

 

 



บทความโดย : oknation

 5582
ผู้เข้าชม

myAccount Cloud Accounting โปรแกรมบัญชีออนไลน์สำหรับ SMEs โปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่ทำให้การทำบัญชีของคุณ เป็นไปอย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว

ข่าวสารล่าสุด

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2557 เวลา 13.30-16.00 น. อาจารย์นิลาวรรณ วงศ์ศิลปมรกต อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ พร้อมคณะอาจารย์ และ ...
1913 ผู้เข้าชม
หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ พร้อมคณะอาจารย์ และ นักศึกษาระดับชั้น ปวช.ปีที่ 1 รวมทั้งสิ้น 73 คน ได้เข้าเยี่ยมชม บริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด
2517 ผู้เข้าชม
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 เวลา 14.00 น. Mr. Marc Miller Vice Consul ได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด
2021 ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์