การสร้างแบรนด์กับการแก้ปัญหาธุรกิจ

การสร้างแบรนด์กับการแก้ปัญหาธุรกิจ

 

 

 

หลังจากทำงานที่ทำงานด้านการสร้างแบรนด์มาประมาณ 3-4 ปี ผมเริ่มพบว่ามีคนจำนวนมากที่รู้สึกว่าแบรนด์นั้นสำคัญ แต่ยังไม่ได้เข้าใจคุณค่าของมันอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะเมื่อต้องตัดสินใจที่จะใช้การสร้างแบรนด์ในการแก้ปัญหาบางอย่าง

 

ผมขออธิบายแบบนี้ละกันครับ  การสร้างแบรนด์ มักจะเป็นงานที่คนส่วนใหญ่มองว่า “สำคัญ แต่ไม่เร่งด่วน” ซึ่งมันก็จริงนะ

ขาด Sale ก็ไม่ได้เงิน

ขาด Production ก็ไม่ได้สินค้า

ขาดพนักงาน ก็ไม่มีคนทำงาน

ขาดการตลาด ก็ไม่มียอดขาย

ขาดหน้าร้าน ก็ไม่มีที่ขายของ (ตอนนี้ขายผ่าน IG กันแล้วนะ)

ขาดแบรนด์... ไม่เห็นจะเสียอะไรเลย

ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ มีโลโก้ก็น่าจะพอแล้วหนิ..

 

แต่ถ้าลองสังเกตให้ดีจะพบว่า ไม่ว่าเราจะทำธุรกิจอะไรก็ตามแต่ มักจะมี ”ปัญหา” บางอย่างที่ไม่รู้จะเริ่มต้นแก้ยังไง ไม่รู้ว่าปัญหาเหล่านั้นมาจากไหน ไม่รู้ว่าทำอะไรผิดหรือทำอะไรถูก แก้เท่าไหร่ก็ไม่หายซักที และปัญหาเหล่านั้นมักเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจพังในท้ายที่สุด!

 

สินค้าเราก็ดี ทำไมลูกค้าคนนี้ไม่ซื้อ (ทั้งๆ ที่ดูอยากได้มาก)

พนักงานทำงานไม่ค่อยใส่ใจคุณภาพ (ขึ้นเงินเดือนแล้วนะ)

พนักงานขายไม่สามารถสื่อสารจุดขายของสินค้าได้ (แต่เราก็สอนเขาแล้วนะ)

ทำไมบัญชีกับการตลาดเถียงกันทุกวัน (ละลายพฤติกรรมแล้วด้วย)

เวลาให้พนักงานอธิบายสิ่งที่ทำ มันดูเหมือนขาดพลังและไม่มีแรงบันดาลใจ

ทำไมเวลาคนถามว่าเราแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ตอบไม่ได้ทุกที

ทำไมวิสัยทัศน์และพันธกิจถึงมีอยู่แค่ About Us ในเว็บไซต์

ทำไม เรา พนักงาน ลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่น ถึงคิดไม่เหมือนกัน!!

 

ยิ่งธุรกิจใหญ่ขึ้นเท่าไหร่ ปัญหาดังกล่าวก็จะยิ่งชัดเจนและสำคัญมากขึ้นเท่านั้น ถามว่าพอจะแก้ได้มั้ย มันก็พอจะทำได้ครับ แต่ส่วนมากจะติดตรงที่ หนึ่ง..เจ้าของธุรกิจมักไม่มีเวลามานั่งแก้! (มันมีเรื่องสำคัญและเร่งด่วนอยู่เสมอ) หรือสอง.. ถึงแม้พยายามจะแก้ ปัญหาเหล่านั้นก็ไม่ใช่อะไรที่พอแก้แล้วจะหายนะครับ กดตรงนี้ ตรงโน้นโผล่ กดตรงนั้น ตรงนี้โผล่ เกายังไงก็ไม่ถูกที่คันซะที

 

นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ถึงแม้ปัญหาจะดูหลากหลายและแตกต่าง แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีต้นตอมาจากที่เดียวกัน นั่นคือ การที่ “แบรนด์" ไม่สามารถสื่อสารถึงคุณค่าที่มีต่อคนเหล่านั้น และในทางกลับกัน คุณค่าที่คนเหล่านั้นมีต่อแบรนด์

 

เมื่อขาดซึ่งคุณค่าที่เชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว ความรู้สึกไม่เป็นพวกเดียวกันจะเกิดขึ้น สิ่งที่ไม่เคยเป็นปัญหาก็จะเป็นปัญหา สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่แล้วก็จะใหญ่โตขึ้นไปมากกว่าที่ควรจะเป็น ลุกลามไปไม่รู้จักจบจักสิ้น มันเป็นเรื่องของวิธีคิด ทัศนคติและการรับรู้นะครับ จะเอาระบบอะไรเข้ามาใช้ ลงทุนมากมายเท่าไหร่ก็ดูเหมือนจะไม่หายซักที

 

สรุปเลยละกันนะครับ วิธีหนึ่ง (ซึ่งอาจจะเป็นวิธีเดียวก็ได้) ที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ชะงัก คือ การนำเอาแบรนด์เข้ามาเป็นศูนย์กลางในการสร้างธุรกิจ ที่บริษัท ผมมักจะใช้คำว่า Brand Centralisation หรือ การทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นมาจากแบรนด์ ให้แบรนด์เป็นศูนย์กลางของทุกความเป็นไปในองค์กร พอเรามองแบบนี้ได้ เราจะพบว่าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์กำลังคุยภาษาเดียวกันและกำลังคุยเรื่องเดียวกัน

 

เรากับลูกค้าไม่ได้แค่คุยเรื่องสินค้า แต่คุยเรื่องคุณค่าเหมือนกัน

พนักงานไม่ได้ทำงานเพื่อเงิน (อย่างเดียว) แต่ทำเพราะคุณค่าบางอย่าง

จุดขายของสินค้า คือ คุณค่าของเรื่องราวกว่าจะมาเป็นสินค้า

บัญชีกับการตลาดมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำร่วมกัน มีเป้าหมายเดียวกัน

พนักงานที่รู้คุณค่าของงานจะรู้ว่าพรุ่งนี้เค้าจะตื่นเช้ามาทำงานเพื่ออะไร

ประสบการณ์และแรงบันดาลใจซึ่งหลอมเป็นคุณค่าของแบรนด์ คือ จุดแตกต่างที่ไม่มีใครเหมือน

วิสัยทัศน์และพันธกิจ จะถูกพูดถึงกันจนกลายเป็นนิสัยขององค์กร

ทุกคนจะพูดถึงคุณค่าของแบรนด์ เพราะแบรนด์มีคุณค่าต่อพวกเขา!!

 

ตัวอย่างมีมากพอที่จะยืนยันได้ว่า เรากำลังอยู่ในยุคของการสร้างแบรนด์อย่างแท้จริง บ่อยครั้งเรามักจะเห็นแบรนด์ระดับโลกนำ Rebranding เข้ามาแก้ปัญหา นั่นไม่ใช่เพื่อปรับภาพลักษณ์ แต่เพื่อพลิกโฉมธุรกิจ เพราะ CEO ระดับโลกรู้ดีกว่า เริ่มต้นที่เมล็ดพันธุ์ กิ่ง ก้าน สาขา ลำต้น หรือผล จะเป็นไปอย่างที่เราต้องการเอง

 

การสร้างแบรนด์ จะว่าไปแล้วก็เหมือนยาวิเศษที่ขมมากและมองไม่เห็น จะกินก็ไม่อยาก พอจะกินก็สงสัยว่าจะหายจริงมั้ย ตอนกินก็ขมซะเหลือเกิน แต่ท้ายที่สุดกลับแก้ได้ทุกปัญหา

 

ยาวหน่อยนะครับสำหรับเรื่องนี้ แต่เชื่อว่าคงเป็นประโยชน์กับใครๆ หลายคนที่ inbox เข้ามาถามว่าการสร้างแบรนด์จะช่วยอะไรได้บ้างหรือควรจะสร้างแบรนด์ดีมั้ย ความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ไม่เกิดขึ้นจากการที่เราเชื่อว่ามันดีนะครับ แต่มันเกิดขึ้นจากการที่เราตัดสินใจทำ

 

แบรนด์ช่วยเราแก้ปัญหาได้ครับ แต่สุดท้ายทุกอย่างเริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเราเองเลือกที่จะเชื่อ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับนักสร้างแบรนด์ทุกคนครับ

 

 

 

 

Credit : BRANDist

 1964
ผู้เข้าชม

myAccount Cloud Accounting โปรแกรมบัญชีออนไลน์สำหรับ SMEs โปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่ทำให้การทำบัญชีของคุณ เป็นไปอย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว

บทความล่าสุด

รู้หรือไม่ว่า ในช่วงแรกเริ่มของ Alibaba แจ๊ค หม่า ไม่จ้างคนเก่งมาร่วมทีม แต่กลับเลือกคนที่อยู่ลำดับรองมาร่วมงานด้วย
17670 ผู้เข้าชม
หลังเรียนจบปริญญาตรีและเข้าทำงานที่อิออน ห้างค้าปลีกใหญ่สุดของญี่ปุ่น กระทั่งต้นทศวรรษ 1970 ทาดาชิ ยานาอิ ซึ่งอยู่ในวัย 20 กว่าปีก็ตัดสินใจลาออกเพื่อกลับไปสานต่อธุรกิจ...
13568 ผู้เข้าชม
ผมมักจะเขียนถึงเรื่องการขายที่เชื่อมโยงกับกีฬาฟุตบอลอยู่เสมอ นั่นเป็นเพราะกีฬาชนิดนี้ มีความคล้ายคลึงกับระบบการทำงานในองค์กรอย่างน่าประหลาด
7938 ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์