สำหรับใครก็ตามที่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง อาจจะเพิ่งเริ่มต้นสร้างหรือมีมานานแล้ว และกำลังพิจารณาที่จะลงทุนต่อ ขยายแบรนด์ แตกไลน์ธุรกิจ หรืออะไรก็แล้วแต่ ขอให้ลองหยุดคิดและถามตัวเองซักนิดว่า แบรนด์ของเราในตอนนี้สุขภาพเป็นอย่างไร เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าสุขภาพแบรนด์ของเราเป็นอย่างไร จะทำอะไรต่อไปก็เหมือนคนไม่รู้จักตัวเอง
ล่าสุดที่ผมได้มีโอกาสได้เจอกับ Prof. Aaker (ปัจจุบันน่าจะเป็นเบอร์ 1 เรื่องการสร้างแบรนด์ของโลก) ที่ญี่ปุ่น เราได้คุยกันว่า บนโลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้น การแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น ทุกอย่างหมุนเร็วมากขึ้น แบรนด์จำเป็นต้องตรวจสุขภาพของตัวเองถี่ขึ้น เพื่อให้รู้ถึงสถานะที่แท้จริงของแบรนด์ เพราะขืนปล่อยไว้นานเกินไปแล้วมาตรวจเจอภายหลัง ทุกอย่างก็อาจจะสายเกินแก้
เขียนมาตั้งนาน เข้าเรื่องเลยละกันนะครับ เวลาตรวจสุขภาพแบรนด์เค้าตรวจอะไรกันบ้าง? สิ่งสำคัญที่สุด คือ การรับรู้แบรนด์ครับ เพราะการรับรู้แบรนด์คือสิ่งที่เกิดจากมุมมองของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผลลัพท์โดยตรงจากการสร้างแบรนด์ ขั้นตอนการรับรู้แบรนด์จนไปถึงเป้าหมายสูงสุดในการสร้างแบรนด์มีอยู่ 9 ขั้นตอนครับ
1. ผู้บริโภคจำแบรนด์ของเราได้หรือไม่?
ลองถามคำถามนี้กับลูกค้าดูนะครับ ไม่ใช่สินค้าอะไร ใครขาย แต่เป็นแบรนด์อะไร
2. ผู้บริโภคเห็นแบรนด์ของเราบ่อยหรือไม่? เห็นตามสื่อหรือช่องทางโฆษณาต่าง
3. ผู้บริโภคจดจำอะไรเกี่ยวกับแบรนด์ของเราได้บ้าง?
4. ผู้บริโภค “ชอบ” แบรนด์ของเราหรือไม่?
การรับรู้ในส่วนแรกเป็นตัวบ่งชี้ถึงประสิทธิภาพ “การสื่อสารแบรนด์ของเรา” ว่าเราสื่อสารได้ดีแค่ไหน และผู้บริโภคเข้าใจส่ิงที่เราสื่อสารดีแค่ไหน อย่าลืมนะครับว่าเราอยู่ในยุคที่การสื่อสารเป็น “สินค้า” ตัวหนึ่งแบรนด์ มีของระดับโลก แต่สื่อสารไม่เป็น ก็อาจล้มไม่เป็นท่าได้นะครับ
5. ผู้บริโภคพิจารณาแบรนด์ของเราเป็นอันดับแรกหรือไม่?
6. ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าของแบรนด์เราหรือไม่?
7. ผู้บริโภครู้สึกพึงพอใจกับสินค้าของเราหรือไม่?
8. ผู้บริโภครู้สึกได้รับแรงบันดาลใจบางอย่างจากแบรนด์ของเราหรือไม่?
9. ผู้บริโภคต้องการแบ่งปันประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ต่อคนรอบข้างหรือไม่?
ส่วนหลังนี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผู้บริโภคเกิดความต้องการในสินค้า ไปจนกระทั่งตัดสินใจซื้อ และหลังจากนั้นพวกเขาจะพิจารณาว่าสิ่งที่พวกเขาเชื่อเกี่ยวกับแบรนด์นั้นถูกต้องหรือไม่ เมื่อพวกเขาได้ลองใช้สินค้าจริง และท้ายที่สุด พวกเขาจะบอกต่อคนรอบข้างถึงเรื่องราวและผลลัพท์ที่ได้จากแบรนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดในการสร้างแบรนด์
ถึงแม้ว่ารูปแบบตรวจสุขภาพอาจแตกต่างกันไปในรายละเอียด ทั้งในด้านของแนวคิดและวิธีการ แต่ท้ายที่สุด สิ่งสำคัญ คือ การลองถามตัวเองอยู่เสมอว่าแบรนด์ของเรา ยังเป็นอย่างที่เราต้องการอยู่มั้ย เพราะถ้าหากเข้าใจแบรนด์มากพอ เราถึงจะสร้างมันขึ้นมาได้ และนั่นคือคุณสมบัติของนักสร้างแบรนด์อย่าง BRANDist ครับ
Credit : BRANDist