มนุษย์สายพันธุ์ "SE" นักเปลี่ยนโลกด้วยโมเดลใหม่

มนุษย์สายพันธุ์ "SE" นักเปลี่ยนโลกด้วยโมเดลใหม่

 

       ความอดทนต่ำกับปัญหาสังคม เชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ ลงมือทำทันที ถ้าล้มก็ลุกใหม่ ไม่พึ่งพาใคร เชื่อในนวัตกรรมพวกเขาคือมนุษย์สายพันธุ์ “SE”

 

       “SE มีลักษณะที่คล้ายกันมาก นั่นคือ ไม่มีใครเริ่มจากการที่บอกว่า ‘อยากรวย’ แต่ทุกคนมีความคิดที่ ‘ไม่อยากจน’ ซึ่งความหมายต่างกันนะ อยากรวย กับ ไม่อยากจน ไม่มีใครหรอกที่อยากจน และก็ไม่เห็นเหตุผลที่ทำไมเราต้องจนด้วย ผมเชื่อว่าสังคมที่ดี คือ เราใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพพอสมควร แล้วก็มีความสุข”

 

       “ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์” ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) สะท้อนความคิด ถึง เหล่าผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneur: SE) ในเทศกาลสัปดาห์กิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ “Social Enterprise Week Thailand 2014” เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา   เมื่อวันนี้คำว่า “Social Enterprise” ถูกให้ความสนใจมากขึ้น ในฐานะ กิจการที่ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้ทำกันแบบ “โลกสวย” อารมณ์สังคมสงเคราะห์ หรือคิดอยู่รอดเพียงแค่รับเงินบริจาค แต่หาทางให้ยั่งยืน และเติบใหญ่ ด้วยการใช้โมเดลทางธุรกิจเข้ามาช่วย  นั่นเองที่ทำให้ SE หลายราย ที่ “คิดเก่ง ทำเก่ง” ในวันนี้ ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาสังคมได้มากขึ้นเท่านั้น แต่ทว่ากิจการยังเติบใหญ่ ทำรายได้งดงาม ขณะที่สินค้าและบริการก็สามารถต่อกรกับธุรกิจทั่วไปได้อย่างสมศักดิ์ศรี

 

       ยกตัวอย่าง “Hapinoy” แฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อในชุมชนเพื่อคนจนในฟิลิปปินส์ ที่ทำธุรกิจนี้มาเพียง 7 ปี แต่สามารถขยายสาขาไปแล้วมากถึง 5 พันสาขา และสร้างรายได้อย่างดงามให้กับพวกเขา เช่นเดียวกับ “Rags2Riches” (R2R) กิจการเพื่อสังคมที่ร่วมกับดีไซเนอร์ชื่อดังของฟิลิปปินส์ เปลี่ยนงานฝีมือจากเศษพรมในชุมชนแออัด มาเป็นแฟชั่นระดับ High-end ในวันนี้สามารถช่วยผู้หญิงในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่า 900 คน ขยายสาขาไปแล้วถึง 50 สาขา ในหลายประเทศ มีผลงานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก และในปี 2010 ก็ได้ร่วมลงทุนกับ LGT Venture Philanthropy เพื่อขยายผลกระทบทางสังคมไปยังชุมชนอื่นๆ ในประเทศ และระดับโลก  หรืออย่าง “The Beautiful Store” SE จากประเทศเกาหลีใต้ ที่เริ่มต้นจากร้านจำหน่ายสินค้ามือสองขนาดเล็ก พัฒนาจนมีสาขามากถึง 120 สาขา มีฐานอาสาสมัครกว่า 5,000 คน และมีรายได้ถึงปีละ 600 ล้านบาท!

 

 

 

 

 

 

       “ธุรกิจเหล่านี้ขยายตัวเร็วมาก โดยพวกเขาใช้หลักการตลาด และการขายเหมือนธุรกิจทั่วไป ทำให้ของดูน่าซื้อและลูกค้าก็ไม่ได้ซื้อเพราะความสงสาร แต่ซื้อเพราะถูกใจ จนสามารถสร้างรายได้หลายร้อยล้านบาทต่อปี เพื่อช่วยสังคมให้ดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องขอเงินบริจาคจากใคร”  ขณะที่ในอีกซีกโลก ก็มีโมเดลที่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน อย่าง “READ International” SE ที่แก้ปัญหาการขาดโอกาสในการเรียนของเด็กแอฟริกา โดยทำแพลทฟอร์มเพื่อรับบริจาคหนังสือและจำหน่ายในออนไลน์ ที่ผ่านไป 3 ปี กับกำลังคนแค่สองคน ก็สามารถสร้างห้องสมุดในแอฟริกาได้แล้วมากถึง 55 โรง บริจาคหนังสือและขายไปแล้วถึง 1.3 ล้านเล่ม ขณะที่พวกเขาก็มีรายได้ดีไม่ต่างจากบริษัทเอกชนทั่วไป หรืออย่าง “VisionSpring” SE ที่แก้ปัญหาสายตาที่รักษาได้ง่ายๆ ของคนจน โดยสามารถช่วยคนไปแล้วถึง 1.5 ล้านคน

 

       “เขาคิด Business Model ใหม่ โดยนำอาสาสมัครในชุมชน มาเป็นผู้ประกอบการด้านสายตา ได้รับเงินเหมือนเซล ซึ่งโมเดลนี้ทำให้สามารถขายแว่นสายตาในราคาถูก ที่คุณภาพเท่าแว่นปกติ โดยไม่ใช่การบริจาค แต่เป็นให้ซื้อในราคาที่เขาซื้อได้ ขณะที่คนขายก็มีรายได้ที่ดีขึ้น และยังพบอีกว่า คนที่มีโอกาสใส่แว่นสามารถสร้างรายได้ในครัวเรือนเขาได้ดีขึ้นด้วย” เขายกตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ SE ทั่วโลก ก่อนสกัด “5 คาแรคเตอร์” ที่จะสร้างมนุษย์สายพันธุ์ “SE” ให้พิชิตเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เช่นนั้นได้

 

       เริ่มจาก “ความอดทนต่ำ” ใครได้ยินเข้า ก็คงแอบคิดว่า นี่น่าจะเป็น “ข้อเสีย”ซะมากกว่า แต่สำหรับ SE ความอดทนต่ำในที่นี้หมายถึง “อดทนต่ำกับปัญหาสังคม” นั่นคือ จะรู้สึกหงุดหงิดเอามากๆ เวลาเจอกับปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และไม่ได้ทำแต่เพียงนั่ง “บ่น” แต่เลือกลงมือทำ ด้วยความรู้จริงในปัญหาที่ต้องการแก้ด้วย  เวลาเดียวกับที่ “เชื่อมั่นว่าทุกปัญหามีทางออกที่ดีกว่าเดิมเสมอ” และไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ และเลือก “ลงมือทำทันที” ล้มก็ “อย่าได้แคร์” ต่อให้พลาดก็จะไม่ยอมแพ้ แต่พร้อมลุกขึ้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว  ที่ดูต่างจาก NGO ทั่วไป คือ คนกลุ่มนี้ “มุ่งมั่นที่จะอยู่รอดด้วยตัวเอง” และพึ่งพาคนอื่นให้น้อยที่สุด จึงไม่ขอวิธีรับบริจาค หรือรอให้ใครมาช่วย แต่เลือก “ยืนด้วยลำแข้ง” โดยใช้โมเดลทางธุรกิจเข้ามาช่วย ปิดท้ายกับ เน้น “นวัตกรรม” โดยมุ่งขาย “คุณภาพ” ไม่ได้ขาย “ความสงสาร”

 

       “เราจะเริ่มด้วยความคิดที่ว่า เราทำดี คงต้องมีคนเข้าใจเรา ของที่เราทำไม่ต้องดีมากหรอก แต่เราจะขายความน่าสงสาร เพื่อให้คนมาซื้อ หรือจะมองกลับกันว่า ต่อให้เราเป็นเพื่อสังคม แต่ของที่ทำ ก็ต้องเหมือนที่ขายให้คนปกติ คือ ไม่ว่าสินค้าหรือบริการ จะคิดถึงเรื่อง นวัตกรรม ก่อน นั่นคือ ทำของใหม่ ที่ต่างไปจากเดิม และดีกว่าเดิม แบบนี้จึงจะยั่งยืนได้” รวมถึงการเป็น SE ต้องไม่พยายามทำในวิธีเดิมๆ ที่เคยล้มเหลว และไม่สักแต่ว่าทำ แต่ต้องทำอย่างมี “ความรู้” และใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยด้วย

 

       “ถ้ามีเวลาแค่ 6 ชั่วโมง ในการตัดต้นไม้ เขาบอกว่า เราควรใช้เวลา 4 ชั่วโมง แรก ในการลับขวานให้แหลมที่สุด เพราะถ้าไม่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ แล้วกระโดดไปตัดต้นไม้เลย ทั้งที่ขวานทื่อ ก็คงไม่สามารถทำให้งานนั้นสำเร็จได้ การมีเครื่องมือที่ดี จึงจะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

 

       ซึ่งปัจจุบันก็มีเครื่องมือมากมายให้ SE ได้ศึกษาเรียนรู้ อาทิ กระบวนการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาสังคม

(Human-Centered Design process) แนวคิด Design Thinking การออกแบบความคิดเพื่อสังคม ที่จะช่วยให้เราค้นหาปัญหาและวิธีการที่ถูกต้องในการแก้ปัญหาสังคม เหล่านี้เป็นต้น นี่คือมนุษย์สายพันธุ์ SE นักเปลี่ยนโลก ที่แม้รายได้ดี แต่พวกเขาก็ไม่คิดเอาเงินเป็นที่ตั้ง และไม่เคยบอกตัวเองว่าทำเท่านี้ “พอแล้ว” เพราะสำหรับพวกเขา... “ปัญหามีเท่าไร ก็ต้องแก้เท่านั้น”

 

 

 

 

Credit : bangkokbiznews.com

 2538
ผู้เข้าชม

myAccount Cloud Accounting โปรแกรมบัญชีออนไลน์สำหรับ SMEs โปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่ทำให้การทำบัญชีของคุณ เป็นไปอย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว

ข่าวสารล่าสุด

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2557 เวลา 13.30-16.00 น. อาจารย์นิลาวรรณ วงศ์ศิลปมรกต อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ พร้อมคณะอาจารย์ และ ...
1919 ผู้เข้าชม
หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ พร้อมคณะอาจารย์ และ นักศึกษาระดับชั้น ปวช.ปีที่ 1 รวมทั้งสิ้น 73 คน ได้เข้าเยี่ยมชม บริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด
2520 ผู้เข้าชม
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 เวลา 14.00 น. Mr. Marc Miller Vice Consul ได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด
2027 ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์