คิดแบบ "สตีฟ จ็อบส์"

คิดแบบ "สตีฟ จ็อบส์"

 

       เกิดมาเป็นลูกที่ถูกทิ้ง  ตายอย่างคนพิเศษที่คนทั่วโลกจดจำ เรื่องราวของสตีฟ จ็อบส์ เป็นเหมือนกรณีศึกษาที่ไม่รู้อีกกี่ปีถึงจะมี "นักธุรกิจหัวใจศิลปิน" อย่างเขาสักคน  แม้หลายคนจะมองว่า สตีฟ จ็อบส์ คือพวกนิยมความสมบูรณ์แบบที่เอาแต่ใจตัวเอง ดูถูกความคิดคนอื่น บ้างยกให้เขาเป็นเจ้าแห่งอัตตา แต่หลายคนชื่นชมยึดเขาเป็นแรงบันดาลใจ บ้างเห็นว่า เขาเป็นคนแล้งน้ำใจที่น่ารังเกียจ

 

 

 

 

 

 

       บางคนที่เคยอ่านวรรณกรรมเรื่อง The Pilgrim of Kamanita ประพันธ์โดย Karl Adolph Gjellerup ชาวสวีเดน อาจมองว่า สตีฟ จ็อบส์ เหมือนกับกามนิตที่พบพระพุทธเจ้าแต่กลับไม่เห็นธรรม ความศรัทธาที่เขามีให้กับศาสนาพุทธนิกายเซนจะหาได้กล่อมเกลาจิตของเขาให้สงบนิ่งและบรรเทาอัตตา แต่อย่างน้อยเขายังมองเห็นความสมบูรณ์แบบในความเรียบง่าย ซึ่งกลายเป็นหัวใจสำคัญในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของ Apple ไม่ว่าคนจะมองจ็อบส์จากมุมไหน สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ เขาเป็นมนุษย์ที่โชคดีเหลือเกิน มีพ่อแม่บุญธรรมที่รักและทุ่มเท พร้อมทำทุกอย่างให้กับลูกที่ไม่ได้มีดีเอ็นเอของพวกเขาผสมอยู่เลย  ได้อาศัยอยู่ในเมืองที่มีสภาพแวดล้อมทางเทคโนโลยีและวิศวกรรมที่ “แม้แต่คนไม่เอาอ่าวก็ยังอยากเป็นวิศวกร”  ได้ครูดีอย่าง “ครูเทดดี้” ที่ไม่ละทิ้งนักเรียนเกเรคนนี้ แถมยังรู้วิธีดึงศักยภาพของเขาออกมา  มีเพื่อนดีอย่าง สตีฟ วอซเนียก ที่เป็นเหมือนเหรียญคนละด้านของจ็อบส์

เรียบง่ายอย่างมีเชิงศิลป์

       หลังจากรับ สตีฟ จ็อบส์ มาเป็นบุตรบุญธรรมแล้ว ครอบครัวจ็อบส์ได้ลงหลักปักฐานอยู่ในพาโล อัลโต เมืองซานฟรานซิสโก เป็นบ้านจัดสรรที่พัฒนาโดยบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของโจเซฟ อิคเครอ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ ในการสร้างแบบบ้านสมัยใหม่ที่เรียบง่ายสำหรับชาวอเมริกัน “ทุกคน” จ็อบส์เล่าว่า ความชื่นชมที่เขามีต่ออิคเครอทำให้เขาอยากสร้างสินค้าดีไซน์เฉียบสำหรับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่  “ผมชอบงานดีไซน์สวยๆ คุณภาพใช้ได้ ราคาไม่แพงนัก” เขาอธิบายขณะชี้ให้ดูงานออกแบบที่เรียบโก้ของอิคเครอว่า “นี่แหละคือวิสัยทัศน์ของ Apple นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำกับคอมพิวเตอร์ Mac รุ่นแรก และ iPod” สิ่งที่อยู่ในความคิดความใฝ่ฝันตลอดช่วงชีวิตของจ็อบส์คือ การนำคอมพิวเตอร์ไปสู่ผู้บริโภค ด้วยรูปแบบที่โดดเด่น ราคาจ่ายได้ เหมือนแบบบ้านสำเร็จรูปของโจเซฟ อิคเครอ และใช้ง่ายเหมือนอุปกรณ์ในครัว ขณะเดียวกันก็ต้องมีความประณีตพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นตัวผลิตภัณฑ์เอง บรรจุภัณฑ์ และรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ

       พอล จ็อบส์ พ่อของสตีฟเคยทำงานเป็นเซลส์ขายรถมือสองที่มีความรู้ด้านเครื่องยนต์ดีถึงขั้นซื้อรถเก่าถูกๆ มาซ่อมและขายหารายได้เสริมเข้าบ้าน เขาเป็นคนที่ใส่ใจทุกรายละเอียด จ็อบส์ยังจำคำพูดที่มีอิทธิพลต่อวิธีคิดของเขามาตลอดว่า "ถ้าคุณเป็นช่างไม้ทำตู้ลิ้นชักงามๆ สักใบ คุณคงไม่ใช้ไม้อัดทำหลังตู้หรอก แม้ว่ามันจะไม่มีใครเห็น แต่คุณก็รู้อยู่แก่ใจว่า เพราะเหตุนี้ คุณถึงเลือกใช้แต่ไม้จริงคุณภาพดีสีสวยทำหลังตู้" ความคิดดังกล่าวฝังหัวจ็อบส์มาตลอด เขาใส่ใจในทุกรายละเอียดและพิถีพิถันกับเรื่องความประณีตงดงามทั้งภายนอก และภายใน เขาให้ความสำคัญตั้งแต่บรรจุภัณฑ์และรูปลักษณ์ที่ต้องสะกดสายตาลูกค้าตั้งแต่แรกเห็น เพราะเขาเชื่อว่าผู้คนตัดสินสิ่งต่างๆ จากรูปลักษณ์ที่เห็น   ตอนที่เขาเตรียมงานเปิดตัวคอมพิวเตอร์ Macintosh นั้น เขาสั่งให้ทีมออกแบบกล่องบรรจุแก้งานกลับไปกลับมาถึง 50 รอบ ทุกคนพากันหัวเสีย แต่สำหรับจ็อบส์แล้ว ทุกรายละเอียดเป็นเรื่องสำคัญ   แม้กระทั่งการจัดวางแผงวงจรภายในตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งปกติไม่มีใครได้เห็นนอกจากช่างคอมพิวเตอร์ หลายคนในทีมออกแบบคอมพิวเตอร์ Mac เห็นว่าเรื่องนี้เหลวไหลไร้สาระ แต่จ็อบส์ยืนกรานหัวชนฝาว่าจะต้องจัดวางแผงวงจรให้สวยไร้ที่ติและไม่ยอมให้ใครมาค้านในเรื่องนี้

       แม้จ็อบส์ศรัทธาในนิกายเซน และเป็นมังสวิรัติที่เคร่งครัด แต่อีกด้านหนึ่งเขากลับเป็นคนที่สนใจในเรื่องการทำธุรกิจ การสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ การคิดเรื่องต้นทุนและกำไร ซึ่งฉายแววให้เห็นตั้งแต่วัยรุ่น เมื่อจ็อบส์กับสตีฟ วอซเนียกเพื่อนสนิทในวัยเด็กของเขาที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าขั้นเทพสามารถผลิต บลูบ๊อกซ์  อุปกรณ์หลอกสัญญาณชุมสายให้โทรทางไกลโดยไม่เสียเงิน   ทั้งสองคนเอาบลูบ๊อกซ์นี้ไปแอบโทรทางไกลเล่นแผลงๆ หลายอย่าง ถึงขั้นโทรไปวาติกันขอพูดกับพระสันตะปาปา ในตอนนั้นเองที่จ็อบส์คิดว่า บลูบ๊อกซ์ไม่ควรเป็นแค่งานอดิเรกไว้เล่นสนุก น่าจะทำขายได้   จ็อบส์เล่าว่า “ผมรวบรวมชิ้นส่วนที่เหลือทั้งหมด เช่น กล่อง แหล่งจ่ายไฟ แป้นตัวเลข มาคิดดูว่าเราน่าจะขายราคาเท่าไหร่” ผลงานที่สำเร็จออกมามีขนาดเท่าไพ่สองสำรับ ต้นทุนอุปกรณ์และชิ้นส่วนทั้งหมดประมาณ 40 ดอลลาร์ จ็อบส์ตั้งราคาขายที่ 150 เหรียญ  
 
และบทบาทนี้คือสิ่งที่เขาทำเมื่อตั้งบริษัท Apple 
 
เกิดมาขบถ

       ความเป็นอัจฉริยะและความมุ่งมั่นชัดเจนในตัวเองของจ็อบส์ฉายแววตั้งแต่วัยเด็ก เช่นเดียวกับความ"แหกคอก"หัวขบถของเขา จ็อบส์คิดไม่เหมือนใครและไม่ยอมอยู่ในกรอบที่ถูกกำหนดให้เดิน ตอนเรียนมหาวิทยาลัยที่เขายื่นคำขาดกับพ่อแม่ว่าจะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยรี้ดซึ่งมีชื่อเสียงว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ให้อิสรเสรีและใช้ชีวิตแบบฮิปปี้ได้  ทว่าในที่สุดเขาก็ต้องขอลาออกกลางคันทั้งๆ ที่ใจจริงไม่ได้อยากลาออก เขาแค่ไม่อยากจ่ายค่าเล่าเรียน และไม่อยากเรียนวิชาที่ตัวเองไม่สนใจเท่านั้น 
 
       จ็อบส์เล่าว่า “ทันทีที่ตัดสินใจเลิกเรียน ผมก็ไม่ต้องเรียนวิชาที่ไม่ชอบอีกต่อไป ผมหันไปเรียนวิชาที่ผมอยากเรียน” และหนึ่งในนั้นคือ วิชาออกแบบตัวอักษร (calligraphy) เพราะเขาเห็นโปสเตอร์ที่ปิดในมหาวิทยาลัยเขียนอย่างสวย  นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า จ็อบส์กำหนดตัวเองอยู่ "กึ่งกลาง"ระหว่างศิลปะกับเทคโนโลยี ในบรรดาผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของเขา เทคโนโลยีจะผสมกลมกลืนอย่างลงตัวกับงานออกแบบที่ดูและรู้สึกได้ถึงความหรู ดูดีมีสง่า จับใจ บางครั้งก็รู้สึกได้ถึงความโรแมนติก   เขาเป็นคนสำคัญที่ผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มีส่วนประสานงานผู้ใช้ (user interface) แบบภาพกราฟิก ที่ทำให้ผู้ใช้สามารถทำงานกับคอมพิวเตอร์ได้ง่ายขึ้น วิชาออกแบบตัวอักษรที่เขาเรียนจึงมีส่วนสำคัญ
 
       จ็อบส์เล่าว่า “ถ้าผมไม่ได้เรียนวิชานั้น คอมพิวเตอร์ Mac ก็คงไม่มีแบบตัวอักษรที่สวยงามให้เลือกหลายแบบ จัดเรียงช่องไฟอย่างได้สัดส่วน Windows เองก็เลียนแบบเรื่องนี้ไปจาก Mac ไม่อย่างนั้นพีซีที่เราใช้กันทุกวันนี้ ก็คงไม่มีแบบตัวอักษรพวกนี้ให้ใช้”  สิ่งที่มาพร้อมกับความแหกคอกหัวแข็งของจ็อบส์คือ ความเชื่อมั่นแรงกล้าและอัตตาที่ใหญ่โตเกินใคร สำหรับจ็อบส์แล้ว ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่เป็นไปไม่ได้ และเขาก็สามารถส่งผ่านแรงกระตุ้นมหาศาลในตัวเองไปให้ผู้คนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทำสิ่งที่เขาตั้งใจให้สำเร็จจนได้ด้วยสารพัดวิธีของเขาเอง   จ็อบส์ชอบออกคำสั่ง เจ้ากี้เจ้าการคุมคนอื่น แต่ไม่ชอบให้ใครมาคุมตัวเอง ไม่ว่าเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็กแค่ไหน ตลอดชีวิตการทำงาน จ็อบส์อยากเห็นตัวเองเป็นผู้ประกอบการ"หัวแข็ง"รอบรู้ ที่หาญกล้าต่อสู้กับอาณาจักรผู้ร้าย เหมือนนักรบเจไดหรือซามูไรต่อสู้กับอำนาจมืด   ดังนั้นนอกจากชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้ก่อตั้ง Apple และสร้างผลิตภัณฑ์เรียบหรูไร้ที่ติแล้ว ชื่อเสียงโด่งดังในอีกด้านที่ใครต่อใครพากันขยาดคือ ความแหกคอก หัวแข็ง มุ่งมั่น ดื้อรั้น ยโส เหี้ยม หยาบคาย ก้าวร้าว โมโหร้าย อารมณ์แปรปรวนกลับไปกลับมาตลอดเวลา แต่หลังจากถล่มผู้คนจนจมดินไปแล้ว เขาก็จะมีวิธีที่จะปลุกปลอบให้ทุกคนฮึกเหิม ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจอันยิ่งใหญ่ โดยทุกๆ 6 เดือนเขาจะพาทีมงานไปพักผ่อน 2 วันที่รีสอร์ตไม่ไกลจากที่ทำงาน  เดือนกันยายน 1982 จ็อบส์กับลูกน้องราว 50 คนในทีมงาน Mac ไปพักผ่อนที่ปาฆาโรดูน ใกล้เมืองมอนเทอเรย์ ทุกคนนั่งล้อมวงหน้าเตาผิง มีจ็อบส์นั่งบนโต๊ะอยู่ด้านหน้า เขาพูดเสียงค่อยอยู่ครู่หนึ่ง แล้วลุกไปเขียนความคิดของเขาบนกระดาษฟลิปชาร์ต
 
       ข้อแรก “อย่าประนีประนอม” (“Don’t compromise”) เมื่อเวลาผ่านไป คำสั่งข้อนี้จะมีทั้งประโยชน์และโทษ จ็อบส์และลูกทีมจะพยายามทำทุกอย่างที่สามารถทำได้เพื่อให้ Mac เป็นคอมพิวเตอร์ที่เขาบอกว่า “ดีฉิบหาย” แม้ว่าจะต้องวางตลาดช้ากว่ากำหนดเดิมถึง 16 เดือน

จ็อบส์บอกทีมงานว่า “ช้าบ้างไม่เป็นไร ดีกว่าทำผิดพลาด”


       หลักการทำงานอีกข้อหนึ่งที่จ็อบส์บอกในการพักร้อนนอกสถานที่ในเดือนมกราคม 1983 คือ “เป็นโจรสลัดดีกว่าเป็นทหารเรือ” (“It’s better to be a pirate than to join the navy.”) เขาพูดอย่างนี้เพราะอยากปลูกฝังให้ทีมงาน"กล้ารั้น" เป็นนักเลงที่ภูมิใจในผลงาน และเต็มใจที่จะฉกชิงจากคนอื่น ปี 2548 จ็อบส์ ได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ให้เป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์แก้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในปีนั้น โดยเขาได้กล่าวถึงชีวิต และความไว้อย่างกินใจ ราวกับคนที่เพ่งมรณานุสติว่า..

       "ไม่มีใครอยากตาย แม้แต่คนที่อยากไปสรวงสวรรค์ ทว่าความตายคือจุดหมายปลายทางร่วมกันที่เราทุกคนมุ่งไปสู่  ไม่มีใครหนีพ้น ซึ่งก็ควรเป็นเช่นกัน เพราะความตายน่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเพียงสิ่งเดียว มันคือตัวแทนให้กับการเปลี่ยนแปลงของชีวิต และชัดเจนว่า คนรุ่นเก่าต้องปูทางให้กับเข้ามาแทนคนรุ่นใหม่..."

       "เวลาของคุณมีจำกัด อย่าไปเสียเวลาเดินตามชีวิตคนอื่น อย่ายึดติดกับปริญญา ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตอยู่กับผลพวงทางความคิดของคนอื่น อย่าปล่อยให้เสียงความคิดเห็นของคนอื่นดังกลบเสียงที่อยู่ข้างในตัวคุณเอง และสิ่งที่สำคัญที่สุด จงกล้าที่จะเดินตามหัวใจและสัญชาตญาณของตน"

       สตีฟปิดท้ายสุนทรพจน์ด้วยวลีที่ปรากฏอยู่บนปกหลังของ The Whole Earth Catalog แค็ตตาล็อกที่ได้รับความนิยมมากในยุค 60 ที่กระแสต้านวัฒนธรรมเฟื่องฟู โดยรวมสารพัดรายการเพื่อการดำรงชีวิตมีตั้งแต่เสื้อผ้า หนังสือ เครื่องมือช่าง บทความ รีวิว จิปาถะ แค็ตตาล็อกฉบับสุดท้ายมีรูปภาพถนนสายหนึ่งในชนบท ถ่ายตอนเช้าตรู่ เหมือนถนนที่ใครสักคนยืนรอโบกรถที่จะผ่านมา ใต้รูปนั้นมีข้อความว่า..

Stay Hungry. Stay Foolish
"จงหิวโหย จงโง่เขลา"

นั่นคือปรัชญาที่จ็อบส์ยึดเป็นแนวทางในการคิดค้นตลอดช่วงชีวิตของเขา
 
"สตีฟ จ็อบส์" กับ "บิลเกตส์" อยากไปกินข้าวกับใคร ?

       "สุทธิชัย หยุ่น" โยนคำถามนี้ใส่ผู้ร่วมวงเสวนาโต๊ะกลม "ตัวตนและวิถีแบบสตีฟ จ็อบส์" และ "แอ๊ปเปิ้ลในวันที่ไม่มี สตีฟ จ็อบส์"  ที่ต้องเปรียบมวยคู่นี้ น่าจะเป็นเพราะความเหมือนกันของทั้ง สตีฟ จ็อบส์ และ บิล เกตส์  ที่ต่างเป็น "อัจฉริยะนักคิด" ผู้ทรงอิทธิพลต่อโลกเทคโนโลยี คนหนึ่งคืออดีตซีอีโอ Apple  อีกหนึ่งคืออดีตซีอีโอไมโครซอฟท์    ในมุมมองของสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มอินทัช บอกว่า เขาเคยมีโอกาสได้ร่วมโต๊ะกับบิลเกตส์ มาแล้ว ถ้าต้องไปกินข้าวอีกครั้ง จะขอไปกินข้าวกับสตีฟ จ็อบส์ ดีกว่า !    "ผมเลือกไปกับสตีฟ เพราะน่าจะทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรมากขึ้น จากบุคลิกของเขาที่เป็นคน Extreme (สุดโต่ง) แม้ว่าทั้งคู่จะเหมือนกันตรงที่สิ่งที่พวกเขาคิดค้นได้สร้างประสิทธิภาพต่อการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มความสุขในการใช้ชีวิตส่วนตัวของผู้คนบนโลก"   เขายังยกย่อง สตีฟ จ็อบส์ ว่าไม่ต่างจาก เฮนรี่ ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งฟอร์ด มอเตอร์ส และ โทมัส เอดิสัน ผู้ริเริ่มประดิษฐ์หลอดไฟ เพราะสินค้าไอทีของแอ๊ปเปิ้ล ไม่ว่าจะเป็น ไอพอด ไอแพด หรือไอโฟน ล้วนเป็นการมองทะลุมิติของเทคโนโลยีว่าเป็นเพียง "เครื่องมือ" (tools) ที่ทำให้การใช้งานสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ ถือเป็นการเปิดศักราชของ Natural User Interface ขนานแท้

       "สตีฟ เป็นคนที่เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ เป้าหมายของการสร้างโปรดักท์จะพุ่งเป้าไปที่ผู้บริโภค จนผู้ผลิตไม่อาจปฏิเสธที่จะผลิตเพราะตลาดต้องการ"

       ในแง่ของการเป็นนักบริหาร สมประสงค์เห็นว่าสตีฟ จ็อบส์ เป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง มีส่วนผสมระหว่างนักธุรกิจ นักประดิษฐ์ ที่สำคัญคือมีความเป็น"ศิลปิน"ในตัวสูงลิ่ว ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่ม (Create Value) ให้กับโปรดักท์ที่ผลิตขึ้นได้มากกว่ามาตรฐานที่คนทั่วไปพึงกระทำ   แต่จะให้ยึดแนวทางการบริหารงานแบบ สตีฟ จ็อบส์ ไหม ? บิ๊กบอสแห่งอินทัช บอกว่า ขอยึดตามหลักกาละ (เวลา) เทศะ (สถานที่) ไว้ก่อน  เหมือนกับ อยู่ไซบีเรียก็ต้องกินไขมันปลาวาฬ อยู่เมืองไทยก็ต้องกินแกงส้ม 

       "ผมไม่ได้จะก๊อบปี้มาใช้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ยอมรับว่าสตีฟ มีคุณสมบัติที่ดีของผู้นำที่เกิดจากความเชี่ยวชาญ เขาเก่งที่สามารถมองในมุมที่คนอื่นมองไม่เห็น ส่วนการแสดงออกทางอารมณ์ในสถานการณ์วิกฤติ บางครั้งผู้นำก็จำเป็นต้องทำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปปิดกั้นความคิดคนอื่น"

       แต่ถ้าคนอื่นคิดนาน แล้วยังคิดไม่ออก องค์กรทำท่าจะเสียหาย ผู้นำก็ต้องฟันธง !!! อย่างนี้เป็นต้น  ขณะที่ สมเถา สุจริตกุล นักเขียน และ วาทยกร อีกหนึ่งผู้รู้ลึกเรื่องราวชีวิตของสตีฟ จ็อบส์  เขาเลือกที่จะไปกินข้าวกับ บิล เกตส์ ด้วยเหตุผลที่ว่าศิลปินใหญ่ (สตีฟ จ็อบส์) มักไม่ค่อยน่าคบ ไปกินข้าวกับบิลเกตส์จึงน่าจะสนุกกว่า แต่เขาไม่ปฏิเสธในความเก่งกาจของ สตีฟ จ็อบส์

       "ผมคิดว่าศิลปินที่เก่งจริงๆ มักจะเป็นคนเลว หมายถึง เอาแต่ใจ ทารุณ แต่ว่าความเก่งของเขาคือมีความสามารถในการคิดที่คนอื่นไม่กล้าคิด คิดทะลุไปข้างหน้า ศิลปินที่เป็นนักประดิษฐ์ Machine ยังหายากที่สุด"

       วิธีคิดของ สตีฟ จ็อบส์ ผมว่าเป็นเหมือนศิลปินผู้ Appreciate มนุษยชาติ "สมเถา" บอกแบบนั้น  ขณะที่ ที่รัก บุญปรีชา พิธีกรรายการแบไต๋ ไฮเทค อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญในแวดวงไอที เลือกที่จะไปกินข้าวกับสตีฟ จ็อบส์ เพราะกลัวว่าจะต้องหารค่าอาหารเป็น"จุดทศนิยม"กับ บิล เกตส์ ที่แม่นเป๊ะเรื่องตัวเลข แม้อาจจะเสี่ยงที่จะถูก สตีฟ จ็อบส์ ไล่ลงจากรถกลางทางเพราะเกิดอารมณ์แปรปรวนขึ้นมา    ในแง่ของการบริหาร พิธีกรรายการท่านนี้เห็นว่า สตีฟ จ็อบส์ เป็นนัก "จับแพะชนแกะ" ที่เยี่ยมยอด หมายถึงการรู้จักดึงความสามารถของคนเก่งออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ แม้เขาจะมีบุคลิกภาพที่สวนทางกับโปรดักท์ที่ผลิตออกมาก็ตาม เป็นคนเอาใจตัวเอง แต่โปรดักท์ที่ผลิตออกมากลับเอาใจ "ผู้บริโภค" !  ส่วน ปฐม อินทโรดม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เออาร์ อินฟอร์เมชั่น แอนด์ พับลิเคชั่น จำกัด บอกว่า เขาไม่กล้าไปกินข้าวกับสองคนนี้ ไม่ขอรับนัดทั้งคู่ เพราะกลัวว่าสุดท้ายแล้วจะโดนไล่ออกจากโต๊ะอาหาร

       สตีฟ จ็อบส์ เป็น Boss ที่ดีไหม ? ปฐมให้ความเห็นว่า อาจจะไม่ดีนัก แต่ความเป็นคน ไม่ประนีประนอมนี่แหละ! ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลก และจะว่าไปตามจริงแล้วความสำเร็จในการพัฒนาโปรดักท์ของสตีฟ จ็อบส์ ยังเกิดจากความร่วมมือของหลายๆ หุ้นส่วน ที่ทำไมพวกเขาต้องยอมทำตาม ก็เพราะเชื่อในตัวเขา และเห็นประโยชน์จากผลลัพธ์มหาศาลทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้น  ที่ผ่านมา ทุกคนจึงต่างรอว่า สตีฟ จ็อบส์ จะทำอย่างไร ?

ดังนั้น Apple ในวันที่ไม่มี สตีฟ จ็อบส์  ในมุมมองของปฐมจึงเห็นว่า...ในระยะ 10 ปีข้างหน้า คงหาใครมาแทนได้ยาก




บทความโดย : คุณวิโรจน์  เย็นสวัสดิ์  |  Facebook

 20756
ผู้เข้าชม

myAccount Cloud Accounting โปรแกรมบัญชีออนไลน์สำหรับ SMEs โปรแกรมบัญชีออนไลน์ที่ทำให้การทำบัญชีของคุณ เป็นไปอย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว

ข่าวสารล่าสุด

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2557 เวลา 13.30-16.00 น. อาจารย์นิลาวรรณ วงศ์ศิลปมรกต อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ พร้อมคณะอาจารย์ และ ...
1922 ผู้เข้าชม
หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ พร้อมคณะอาจารย์ และ นักศึกษาระดับชั้น ปวช.ปีที่ 1 รวมทั้งสิ้น 73 คน ได้เข้าเยี่ยมชม บริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด
2525 ผู้เข้าชม
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2557 เวลา 14.00 น. Mr. Marc Miller Vice Consul ได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท โปรซอฟท์ คอมเทค จำกัด
2030 ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์